วิเคราะห์ต้นทุน เมนู ข้าวไข่ดาว
“ข้าวไข่ดาว” เมนูง่ายๆ ที่ร้านอาหารตามสั่งแทบทุกร้านต้องมี ด้วยวัตถุดิบที่เรียบง่ายและราคาขายที่ไม่สูง แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าราคาขายที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่? วันนี้เราจะมาลงมือวิเคราะห์ต้นทุนกันแบบละเอียด
ต้นทุนวัตถุดิบมีอะไรบ้าง
- ไข่ไก่ 2 ฟอง: 8.00 บาท
- น้ำมันพืช (ทอดซ้ำเฉลี่ย 3 ครั้ง, 200 มล.): 3.47 บาท
- ข้าวสวย 150 กรัม: 3.00 บาท
- ค่ากล่องบรรจุภัณฑ์ (สำหรับสั่งกลับบ้าน): 1.29 บาท
- น้ำปลาพริกชนิดซอง: 0.52 บาท
รวมต้นทุนเบื้องต้น: 16.28
*ราคาวัตถุดิบเป็นเพียงการประเมิน อาจมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลา และราคาในแต่ละพื้นที่
**อาจมีต้นทุนรายการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กระดาษทิชชู่ ถุงพลาสติก ที่ต้องให้แถมไปกับการจัดส่งทุกครั้ง
คำนวณต้นทุน: อย่าลืมต้นทุนแฝงที่ร้านอาหารต้องแบกรับ
“ต้นทุนที่ร้านมองไม่เห็น?” ในเมื่อต้นทุนวัตถุดิบของเมนูข้าวไข่ดาว สำหรับร้านตามสั่งแต่ละร้าน มีต้นทุนวัตถุดิบที่ใกล้เคียงกัน แล้วอะไรคือต้นทุนที่ต่างออกไป สำหรับแต่ละร้าน
สมมติว่าคุณคือร้านอาหารตามสั่ง
- เงินลงทุน
100,000 บาท โดยต้องการที่จะคืนทุนในระยะเวลา 2 ปี - ค่าเช่า
เดือนละ 12,000 บาท โดยเปิดร้านขายทุกวัน (10ชั่วโมง/วัน) - จำนวนที่นั่ง
20 ที่นั่ง - พนักงาน
2 ตำแหน่ง
ต้นทุนแฝงในแต่ละจานของ “ข้าวไข่ดาว”
- ค่าแก๊ส (เตา KB-5 ใช้ไฟแรง 2 นาที): 1.04 บาท
- ค่าแรงพนักงาน (พ่อครัว, ค่าแรงวันละ 500 บาท, ทอดไข่ 5 นาที): 4.17 บาท
- ค่าเช่าและค่าเสื่อม (เฉลี่ยต่อลูกค้า 30 นาที): 1.33 บาท
รวมต้นทุนแฝงต่อจาน: 6.54 บาท
สรุปต้นทุนรวม (วัตถุดิบ+แฝง): 22.81 บาท/จาน
*ค่าเช่าและค่าเสื่อมราคา สามารถดูวิธีคิดได้ที่นี่
ขายผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่: มาพร้อมค่า GP
ค่าบริการที่ถูกเรียกเก็บจากการขายบนแอปเดลิเวอรี่ อาจทำให้ร้านค้าต้องตั้งราคาที่สูงขึ้นกว่าการขายหน้าร้าน ยกตัวอย่างค่า GP 30% + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คิดเป็น 32.1 % นั่นหมายความว่าหากขายบนแอป 100 บาท จะได้รับเพียง 67.9 บาท
*อัตราค่า GP อาจแตกต่างกันไปตามผู้ให้บริการและเงื่อนไขที่ร้านค้าได้รับ
ตัวอย่างราคาขาย ข้าวไข่ดาว 2 ฟอง
เปรียบเทียบราคาขายหน้าร้าน และผ่านเดลิเวอรี่
ช่องทาง | ราคาขาย | หัก GP (32.1%) | กำไรต่อจาน |
---|---|---|---|
หน้าร้าน | 40 บาท | 0 | 17.18 บาท |
เดลิเวอรี่ | 65 บาท | 20.865 บาท | 21.32 บาท |
หน้าร้าน | 30 บาท | 0 | 7.18 บาท |
เดลิเวอรี่ | 45 บาท | 14.445 บาท | 7.74 บาท |
ราคาขายมีกำไรต่อจาน ไม่ได้สรุปว่าร้านมีกำไร
“จุดคุ้มทุนของร้านคุณอยู่ที่ไหน?” แม้ขายแล้วมีกำไรต่อจาน แต่สิ่งสำคัญคือยอดขายขั้นต่ำที่ต้องทำได้ เพื่อให้ร้าน “อยู่รอด” หากมีค่าใช้จ่ายรวมต่อวันประมาณ 1,385.16 บาท (ค่าเช่า, ค่าแรงพนักงาน, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ) ร้านจำเป็นต้องขายข้าวไข่ดาวกี่จานต่อวัน?
- ค่าไฟของหลอดไฟ 3 ดวง และพัดลม 1 ตัว 4.05 บาท
- พนักงาน 2 คน รวมค่าแรง 850 บาท
- ค่าเช่าและค่าเสื่อม 531.11 บาท
- ร้านยังมีต้นทุนอื่นๆ อีก เช่น น้ำยาล้างจาน ค่าไฟของตู้แช่ ของใช้แล้วหมดไปอื่นๆ ซึ่งขอละไว้ก่อนในที่นี้
ดังนั้น “ยอดขายขั้นต่ำ” ที่ครอบคลุมทุกต้นทุน หรือจุดคุ้มทุน จึงมีบทบาทสำคัญ
ราคาที่เหมาะสมคืออะไร?
ราคาขายที่เหมาะสมควรตั้งบนพื้นฐานของต้นทุนที่แท้จริงและวิเคราะห์ให้ครอบคลุมทุกปัจจัย โดยเฉพาะร้านที่มีทั้งการขายหน้าร้านและเดลิเวอรี่ เพราะการตั้งราคาเพียงตามความรู้สึกหรือแค่การเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ อาจนำไปสู่การขาดทุนที่ไม่รู้ตัว
- ราคาไหนที่คุ้มค่ากับทั้งร้านและลูกค้า
- ราคาไหนแบบไหน คือราคาที่ลูกค้าของเรายอมจ่าย
- จุดที่พอดีสำหรับร้าน
- ขายกำไรน้อยเน้นปริมาณ
- ขายในราคาสูงกว่า ได้กำไรต่อจานมากขึ้น แต่จำนวนอาจน้อยลง
- หากมีร้านอื่นใกล้ๆ ลูกค้าจะเลือกตัวเลือกอื่นแทนไหม
- คุณภาพ รสชาติ และการบริการอื่นๆ ก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เช่น ทอดไข่ได้ในระดับที่ถูกใจทุกครั้ง ลูกค้าก็ยินยอมจ่ายเพิ่มเล็กน้อยได้
- ใช้การตั้งราคาเพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่าง Loss Leader ตั้งเมนูดึงลูกค้าในราคาต่ำ แต่เสริมกำไรจากเมนูอื่น
- ใช้เป็น Price Anchoring สร้างจุดเปรียบเทียบให้เมนูหลักดูคุ้มค่า
บทสรุป
การตั้งราคาไม่ใช่แค่สร้างสตอรี่แล้วตั้งให้สูง หรือแข่งขันโดยตั้งให้ต่ำ แต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าทั้งร้านและลูกค้าในระยะยาว การใช้เครื่องมือหรือเทมเพลตช่วยในการคำนวณและวิเคราะห์ต้นทุนจะทำให้ธุรกิจคุณมั่นคง และลดความเสี่ยงจากการขาดทุนได้มากที่สุด
- คุณเคยลองวิเคราะห์กำไรของ “เมนูที่ดูง่าย” แบบนี้บ้างหรือยัง?
แค่จานเดียว อาจเป็นตัวเปลี่ยนอนาคตทั้งร้านก็ได้
ลองเริ่มต้นด้วย เทมเพลตคำนวณต้นทุน ที่จะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดขึ้น พร้อมรอบรับการวิเคราะห์รายการขายผสม เพราะร้านอาหาร ไม่ได้ขายแค่เมนูเดียว และมีต้นทุนกำไรต่างกัน