การตั้งราคาขาย
“ราคา” ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ตัวเลขอันแสนสำคัญที่อาจจะบอกว่าธุรกิจของคุณไปต่อได้หรือไม่รอดตั้งแต่เริ่ม วิเคราะห์การตั้งราคาขายให้เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุน ลดโอกาสขาดทุน
การตั้งราคาขายควรพิจารณาตลาดและราคาคู่แข่ง เทคนิคการตั้งราคาที่สามารถพบเห็นได้บ่อย แต่ก็สามารถทำให้หลายๆธุรกิจพลาดต้องล้มลง นั่นคือ “การตั้งราคาขายให้เท่าหรือตัดราคาคู่แข่ง” ซึ่งได้ผลอย่างยิ่งกับลูกค้ากลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านราคา แต่ในบางกรณีการตั้งราคาเพื่อตัดราคาคู่แข่งไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายของธุรกิจของคุณเอง
ก่อนการตั้งราคาขาย จึงควรที่จะทราบสัดส่วนของต้นทุนหลักและต้นทุนแฝงเสียก่อน เพื่อให้การขายนั้นทำให้มีกำไร ไม่ใช่ทำให้ขาดทุน
ควรคิดอะไรบ้าง ก่อนตั้งราคาขาย
เพื่อให้การตั้งราคาขายครอบคลุมต้นทุนด้านต่างๆ แนะนำว่าไม่ควรมองข้ามต้นทุนเหล่านี้
ต้นทุนวัตถุดิบ-บรรจุภัณฑ์ (COG - Cost of Goods)
ต้นทุนหลักของการขายสินค้าบริโภค ควรคำนวณต้นทุนให้ครบถ้วนทุกรายละเอียด
นอกจากใช้วัตถุดิบเท่าไหร่ อย่าลืมคิดปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ได้จริงหลังการตัดแต่ง (yield)
ค่าจ้าง (COL - Cost of Labor)
ค่าจ้างพนักงานควรตามความเชี่ยวชาญและตำแหน่งหน้าที่ของพนักงาน
วางแผนจัดสรรพนักงานอย่างพอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
เพื่อรักษาประสิทธิภาพและควบคุมต้นทุน
ถ้าการกระบวนการผลิตใช้เวลานาน ผลิตได้จำนวนจำกัด จะครอบคลุมต้นทุนค่าจ้างไหม คำนวณต้นทุนค่าแรงตามระยะเวลาที่ใช้กันให้ดีก่อนที่จะตั้งราคาขาย
ค่าเช่า (COR - Cost of Rent)
ค่าเช่าควรเป็นไปตามจำนวนโอกาสในการขาย
การเลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้า เป็นจุดสำคัญมากสำหรับความสำเร็จของธุรกิจ
หนึ่งวันเปิดร้านกี่ชั่วโมง ค่าเช่าที่แพง กำลังการผลิตต่ำ-รับลูกค้าได้น้อย คิดไม่ดีมีขาดทุน
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation)
การก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และอุปกรณ์ต่างๆ มีระยะเสื่อมสภาพ
กำหนดระยะเวลาคืนทุนที่เหมาะสมให้กับการลงทุน เพื่อกำหนดราคาขายที่จะทำให้ได้รับกำไร
อุปกรณ์-การตกแต่งร้านแพงๆ ก็มีหมดอายุการใช้งาน ถึงเวลาก็ต้องซ่อมแซมหรือซื้อใหม่ ขายเท่าไรจะคืนทุน
ต้นทุนพลังงาน (Cost of Energy consumption)
ค่าใช้จ่ายที่มีอยู่เสมอ สำหรับกระบวนการในธุรกิจ
เลือกใช้งานอุปกรณ์ต่างๆอย่างเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิต
การใช้แก๊สตุ๋นอาหารนานข้ามคืนหรือไฟต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง เป็นค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุนไม่น้อย
เมื่อแต่ละธุรกิจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน รวมถึงยังมีต้นทุนอื่นๆนอกเหนือจากที่ยกตัวอย่างข้างต้นตามแต่ละบริบท
ดังนั้นการใช้หลักการคิดเดียวกันไปซะหมด โดยไม่มีการประยุกต์ให้เหมาะ ก็อาจเป็นการลดจุดเด่นที่ตนเองมี
วิเคราะห์ต้นทุนของธุรกิจอย่างรอบคอบ ป้องกันความเสี่ยงขาดทุน