เทคนิคจัดโปรโมชั่นช่วงเทศกาล
เทศกาลคือโอกาสทองที่ร้านอาหารไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน หรือคริสต์มาส ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ลูกค้ามีพฤติกรรม “เปิดใจลองร้านใหม่” และ “ใช้จ่ายมากกว่าปกติ”
แต่การจัดโปรโมชั่นในช่วงนี้ ต้องวางแผนให้ดี ไม่ใช่แค่ลดราคาแล้วหวังว่าลูกค้าจะหลั่งไหลมา เพราะหากไม่เข้าใจต้นทุน กำไร และพฤติกรรมของลูกค้าให้ดีพอ อาจได้ยอดขายพุ่ง แต่กำไรหด
ประเภทของโปรโมชั่นที่ใช้ได้ดีในช่วงเทศกาล
- โปรโมชั่นลดราคา
เหมาะกับเมนูที่ทำกำไรดีอยู่แล้ว เช่น ลด 10–20% เฉพาะช่วงเทศกาล
ข้อดี: ดึงความสนใจของลูกค้าได้ทันที
ข้อเสีย/ควรระวัง: ระวังลูกค้าจะติดภาพว่า “ต้องลดถึงจะซื้อ” - ซื้อ 1 แถม 1
เหมาะกับกลุ่มครอบครัว เพื่อนหรือคู่รักที่ออกมาฉลองด้วยกัน
ข้อดี: เพิ่มปริมาณลูกค้าในกลุ่ม
ข้อเสีย/ควรระวัง: ควรมีสต๊อกเพียงพอ หรือมีการกำหนดจำนวนสิทธิ์ที่ชัดเจน - ออกเมนูพิเศษเฉพาะเทศกาล
เช่น ข้าวแช่หน้าร้อน, เค้กธีมคริสต์มาส
ข้อดี: สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าใหม่ ช่วยเพิ่มมูลค่าโดยไม่ต้องลดราคา
ข้อเสีย/ควรระวัง: ต้องมีการเตรียมวัตถุดิบและเทรนด์พนักงานเฉพาะ หากคาดการณ์ผิด อาจมีของไม่เพียงพอ/สต๊อกมากเกินจนเน่าเสีย - แจกของขวัญ/คูปอง
เช่น แจกคูปองส่วนลดใช้ได้ครั้งถัดไป
ข้อดี: กระตุ้นการกลับมาซื้อซ้ำ
ข้อเสีย/ควรระวัง: มีต้นทุนแอบแฝง ต้องวางระบบให้ดีในการนำกลับมาใช้งาน - โปรร่วมกับแอปเดลิเวอรี่/พาร์ทเนอร์
เพิ่มช่องทางขยายฐานลูกค้า สะดวกสำหรับลูกค้าทางบ้าน
ข้อดี: ขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น
ข้อเสีย/ควรระวัง: ต้องหัก GP ควรคำนวณต้นทุนให้แม่นยำ
เลือกโปรโมชั่นให้เหมาะกับประเภทของร้าน
1. ร้านในแหล่งท่องเที่ยว
- เช่น: ร้านในจังหวัดท่องเที่ยว หรือ อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
- พฤติกรรมลูกค้า: ขาจร แต่มีปริมาณมากในช่วงเทศกาล
- แนะนำโปรโมชั่น: ไม่จำเป็นต้องลดราคา เพราะความต้องการมีสูงอยู่แล้ว
- ใช้ โปรโมชั่นที่สร้างความทรงจำ เช่น เช็กอินรับส่วนลด, แจกของที่ระลึกเล็ก ๆ ทำเมนูพิเศษเฉพาะเทศกาลเพื่อสร้างโอกาสแชร์บนโซเชียล
- ใช้ Google Maps และ QR code กระตุ้นรีวิวทันทีหลังจบมื้อ
2. ร้านในชุมชน / กลุ่มลูกค้าประจำ
- เช่น: ร้านตามหมู่บ้าน คอนโด หรือออฟฟิศ
- พฤติกรรมลูกค้า: กลับมากินซ้ำได้บ่อย ชอบความคุ้มค่า
- แนะนำโปรโมชั่น:
- แจกเมนูพิเศษเฉพาะเทศกาล เมื่อซื้อครบยอดที่กำหนด
- โปรแกรมสะสมแต้ม / คูปองแบบมีวันหมดอายุ
เป้าหมาย: เสริมความสัมพันธ์ → เพิ่มความถี่ในการกลับมา
3. ร้านที่เป็น “เป้าหมายการเฉพาะ”
- เช่น: บุฟเฟต์, คาเฟ่ธีมชัด, ร้านอาหารหรู
- พฤติกรรมลูกค้า: วางแผนมาก่อนล่วงหน้า ตัดสินใจจากภาพลักษณ์/รีวิว
- แนะนำโปรโมชั่น:
- จองโต๊ะหรือออเดอร์ล่วงหน้าเพื่อรับเมนูพิเศษฟรี (เมนูพิเศษที่ต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น)
- สร้างกิจกรรมถ่ายรูป แชร์แล้วลดราคา/รับของขวัญ
เป้าหมาย: เพิ่มโอกาสในการ “จองล่วงหน้า” เพื่อประเมินจำนวนลูกค้าและวางแผนสต๊อก และเพิ่มการ “รีวิว”
4. ร้านแบบเดลิเวอรี่
- ในช่วงเทศกาลมีหลายร้านเลือกที่จะหยุด ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกน้อยลง ใช้โอกาสนี้เพื่อรับลูกค้ากลุ่มใหม่
- พฤติกรรมลูกค้า: อยากสั่งซ้ำหากคุ้มค่า / ส่งไว / แพ็กเกจดี, ไม่อยากออกจากบ้าน
- แนะนำโปรโมชั่น:
- โปรส่งฟรี ชุดอาหารพิเศษ สำหรับช่วงเทศกาล (ใส่ชื่อเทศกาลไว้ในชื่อหรือภาพเมนู จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ)
- แถมเมนูพิเศษ เมื่อสั่งเกินยอดที่กำหนด
เป้าหมาย: เพิ่มยอดสั่งซื้อและจำนวนลูกค้าใหม่ในช่วงที่คู่แข่งหยุด
ไม่ใช่ทุกทำเลจะเหมาะกับการลดราคา! ร้านที่ตั้งอยู่ในทำเลดี มีปริมาณคนมากอยู่แล้ว เช่น ใกล้จุดเที่ยวหรือสถานีขนส่ง ควรเน้นสร้างประสบการณ์แทนการลดราคา
ขณะที่ร้านที่อาศัยลูกค้าประจำ ควรใช้โปรโมชั่นเพื่อสร้างความผูกพันระยะยาว
ข้อควรระวัง
อย่ามองข้าม “ความเร็ว” ของเมนูที่นำมาจัดโปร
เมื่อลูกค้าขาจรมากกว่าปกติ ในช่วงเทศกาลมักจะพบกับ ลูกค้าขาจรที่มาแบบเร่งรีบ
โดยเฉพาะร้านที่อยู่ในจุดท่องเที่ยว จุดพักรถ หรือแหล่งที่มีลูกค้าขาจรจำนวนมาก
สิ่งที่ควรพิจารณาตอนเลือกเมนูที่นำมาทำโปร
- เตรียมล่วงหน้าได้ง่าย หรือใช้ขั้นตอนน้อยที่สุด
- เสิร์ฟไว จัดจานง่าย
- เมนูที่สามารถทำหลายจานพร้อมกันได้
- รสชาติที่ถูกใจคนหมู่มาก
- ควรเป็นเมนูที่ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักดี ไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจนาน
- จัดเป็นชุด / คอมโบ เช่น อาหาร + เครื่องดื่ม ในราคาเดียว เพื่อความเร็วในการตัดสินใจสั่ง
ถ้าเสิร์ฟช้า ต่อให้โปรแรงแค่ไหน ลูกค้าก็ไม่ประทับใจ
โปรโมชั่นที่ดี ไม่ได้มีไว้แค่ “กระตุ้นยอด”
- เลือกรูปแบบที่เหมาะกับลูกค้าของคุณ ทำเลของร้าน และต้นทุนจริงที่คุณแบกรับ
- โปรที่ดีควร กระตุ้นยอดขาย เพิ่มกำไร และ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ในระยะยาว
- อย่าให้กลายเป็นว่า “ขายแบบไม่มีโปร ยังได้กำไรมากกว่า”
หากจัดโปรโดยไม่คำนวณต้นทุนให้ดีพอ ยอดขายที่พุ่ง อาจหมายถึงกำไรที่หายไป